หน้าหลัก
วิธีการเล่น
กลยุทธ์เบื้องต้น
เทคนิคการเล่น
เกมที่น่าสนใจ
บันทึกหมาก
เว็บบอร์ดเก่า
การเปิดหมาก
กระดานโอเทลโล่
แกลลอรี่
โอเทลโล่ลิงก์
โปรโมตเว็บไซต์
ขณะนี้มี 1 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

สั่งซื้อกระดานโอเทลโล่
กลยุทธ์เบื้องต้น พิมพ์ อีเมล
เขียนโดย ธรรมธร ไกรก่อกิจ (Zen)   

4. การเปิดเกม (Opening)

โดยทั่วไปในการเล่นโอเทลโล่ทั้งสองฝ่ายผลัดกันเดินทั้งหมด 60 ตาเดิน (หมาก 4 ตัวแรกวางไว้แล้วในตอนเริ่มเกม) เราอาจจะแบ่งช่วงของเกมได้ง่ายๆ ดังนี้

  • ช่วงเปิดเกม     20 ตาเดิน
  • ช่วงกลางเกม   20 ตาเดิน
  • ช่วงท้ายเกม    20 ตาเดิน

การแบ่งข้างต้นเป็นการแบ่งอย่างง่ายๆเท่านั้น ในความเป็นจริงช่วงท้ายเกม 20 ตาเดินอาจจะถือว่ายาวเกินไป อาจจะแบ่งเป็น 20-25-15 หรือ 15-30-15 ซึ่งไม่มีสาระสำคัญเท่าไรนักในการเล่น แต่การแบ่งเกมเป็น 3 ช่วงนั้นมีวัตถุประสงค์การอธิบายกลยุทธ์ในแต่ละช่วงของเกมที่ต่างกัน

การเปิดเกมนั้นเป็นช่วงเริ่มต้นที่มีความสำคัญในการกำหนดรูปแบบของเกมซึ่งรวมถึงแนวทางในการเล่นในเกมนั้นๆด้วย กลยุทธ์บางอย่างในช่วงเปิดเกมและกลางเกมสามารถใช้กันได้ เพราะแนวคิดในการเล่นของช่วงต้นเกมและกลางเกมนั้นไม่ต่างกันมากนัก

หากผู้อ่านต้องการจะศึกษารูปแบบการเปิดหมากต่างๆ เริ่มต้นขอให้ทดลองเล่นเองและทำความเข้าใจดูก่อน เพราะความเข้าใจนั้นสำคัญที่สุดในช่วงเปิดเกม แต่ละหมากก็มีความหมายและวิธีการเล่นของตัวมันเอง โดยผู้เขียนจะยกตัวอย่างซัก 2-3 หมากเพื่อความเข้าใจพร้อมคำอธิบาย

Tiger Opening

รูปที่ 4.1 หมากไทเกอร์

หมากไทเกอร์ (Tiger) 

ลำดับหมาก : E6 F4 C3 C4 D3 D6 E3 C2*

หมากไทเกอร์นั้นเป็นหมากที่นิยมใช้กันมากตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน (ชื่อไทเกอร์ว่ากันว่ามาจากรูปร่างหมากคล้ายเสือ?) เนื่องจากตำแหน่งที่เห็นในรูปที่ 4.1 นั้น หมากขาวและหมากดำยังเท่าเทียมกันอยู่ หมากดำจะอยู่เป็นกลุ่มก้อนระหว่างหมากขาวรอให้หมากขาวเป็นฝ่ายเปิดเกมในจังหวะต่อๆไป เพื่อหาทางโต้ตอบ

*ลำดับหมากไทเกอร์ E6 F4 C3 C4 D3 ถึงตรงนี้ถือว่าเป็นหมากไทเกอร์แล้ว แต่ผู้เขียนต้องการให้รูปร่างหมากชัดเจนยิ่งขึ้นเพื่อใช้ในการอธิบายจึงต้องเดินไปไปอีก 3 ตา คือ D6 E3 C2

 

Tanida Opening

รูปที่ 4.2 หมากทะนิดะ

หมากทะนิดะ (Tanida) 

ลำดับหมาก : E6 F6 F5 F4 E3 C5 C4 E7 C6 E2*

หมากทะนิดะนั้นชื่อหมากมาจากชื่อแชมป์โลกโอเทลโล่ปีพ.ศ. 2525 (Kunihiro Tanida) ที่ใช้หมากนี้ตลอดการแข่งขันชิงแชมป์โลกในปีนั้น(World Othello Championship 1982) วัตถุประสงค์ของหมากนี้จะเห็นได้จากรูปที่ 4.2 (ตาหมากดำเดิน) หมากขาวตั้งใจเดินตาสุดท้ายที่E2 เพื่อดึงเกมให้หมากดำเข้ามาเล่นในด้านขวาของกระดาน เพราะหมากขาวอยู่ทางด้านขวาทั้งหมด

*ลำดับหมากทะนิดะ E6 F6 F5 F4 E3 C5 C4 E7 ถึงตรงนี้ถือว่าเป็นหมากทะนิดะแล้ว เหตุผลเดียวกับหมากไทเกอร์ด้านบน

 

Heath Opening

รูปที่ 4.3 หมากฮีธ

หมากฮีธ (Heath) 

ลำดับหมาก : E6 F6 F5 F4 G5

หมากฮีธ(ชื่อหมากคาดว่ามาจากนักเล่นโอเทลโล่เช่นกัน) วัตถุประสงค์ของหมากนี้คือ การดึงเกมออกไปจากกลางกระดาน สังเกตรูปที่ 4.3 (ตาหมากขาวเดิน)หมากขาวจะเหลือที่เล่นน้อยมากและอยู่ในบริเวณใกล้มุมขวาล่างของกระดาน ส่งผลให้หมากดำหรือหมากขาวจำเป็นต้องเป็นฝ่ายเดินขอบตั้งแต่ช่วงต้นเกมเพราะไม่มีตาเล่นนอกเหนือจากบริเวณนี้

จากตัวอย่างข้างต้นเป็นคำอธิบายที่เกิดจากการเล่นจนเข้าใจ หมากเปิดแต่ละรูปแบบก็มีวัตถุประสงค์แตกต่างกันไป ผู้เล่นระดับสูงมักจะรู้หมากเปิดหลายประเภท รวมถึงทางแก้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ความเข้าใจ เพราะหากผู้เล่นยังไม่เข้าใจวัตถุประสงค์ของหมากต่างๆแล้วนำไปใช้ ก็ไม่สามารถดึงข้อได้เปรียบของหมากนั้นๆมาใช้ได้ จากที่จะได้เปรียบกลับเป็นฝ่ายเสียเปรียบเสียเองและพ่ายแพ้ไปในที่สุด

ส่วนของการเปิดหมากผู้เขียนจึงขอเกริ่นไว้เท่านี้ เนื่องจากยังไม่ใช่สาระสำคัญของการเล่นโอเทลโล่ในเบื้องต้น แต่เป็นสิ่งที่ควรรู้และศึกษาหากได้ฝึกเล่นและต้องการพัฒนาในขั้นต่อไป



 
Sosuco and Group 2008
Sosuco and Group 2008
Sosuco and Group 2008
 
Copyright © 2006-2015 www.ThaiOthello.com (Thailand), All Rights Reserved